ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ (น้ำมันเครื่อง)

แชร์บทความนี้ให้เพื่อน

น้ำมันเครื่อง คือ

          เครื่องยนต์ทุกประเภทจะเคลื่อนที่ได้ก็ต้องอาศัยพลังงาน แต่พลังงานอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากขณะที่เครื่องยนต์ทำงานย่อมจะมีชิ้นส่วนต่างๆที่เป็นโลหะเสียดสีกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้เสียดสีกันโดยตรงก็จะเกิดการสึกหรอและเกิดความร้อนสะสมขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อจะลดการเสียดสีและการสึกหรอที่เกิดขึ้นนั้น จึงต้องอาศัยน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปแทรกระหว่างผิวโลหะทั้งสองไม่ให้กระทบกันโดยตรง นอกจากนี้น้ำมันหล่อลื่นยังช่วยระบายความร้อน ทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ และอุดช่องว่างระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ป้องกันการรั่วซึมของก๊าซไม่ให้ความดันรั่วไหลทำให้เครื่องยนต์มีกำลังเต็มที่และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ระหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์

1.1 ความหมายของน้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่อง หมายถึง น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายใน ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล โดยจะทำหน้าที่หล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนไหวภายในเครื่องยนต์ เช่น ลูกสูบเพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว และแบริ่งต่างๆ เป็นต้น

1.2 องค์ประกอบของน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่อง ผลิตจากการผสมน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) กับสารเพิ่มคุณภาพ(Additives) ในสัดส่วนต่างๆ กัน

น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน จะทำให้น้ำมันเครื่องมีความหนืดหรือความข้นใสตามที่ต้องการ มี 2 ประเภทได้แก่
น้ำมันแร่ (Mineral Oil)

เป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมโดยตรง

น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานสังเคราะห์ (Synthetic Base Oil)

เป็นการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหรือน้ำมันแร่ไปผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีคุณภาพดีขึ้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า แต่มีราคาแพงกว่าน้ำมันแร่

สารเพิ่มคุณภาพ จะช่วยทำให้น้ำมันเครื่องมีคุณสมบัติด้านการใช้งานที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ เช่น
– สารป้องกันการกัดกร่อน
– สารป้องกันสนิม
– สารต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศ
– สารชะล้างและกระจายสิ่งสกปรก
– สารป้องกันการเกิดฟอง
– สารลดจุดไหลเท
– สารรับแรงกดสูง
– สารเพิ่มดัชนีความหนืด ฯลฯ

น้ำมันเครื่องจะมีคุณสมบัติที่ดีได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและสารเติมแต่งที่เหมาะสม และจะต้องผ่านการทดสอบกับเครื่องยนต์หลายๆ ประเภทเป็นเวลานานตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและให้เหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์แต่ละประเภท